ประวัติความเป็นมา

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้จัดตั้งวิทยาเขตแห่งที่ 30 ขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาเขตวังไกลกังวล” ซึ่งเป็นชื่อที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบให้ใช้ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศจัดตั้งวิทยาเขตแห่งนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 โดยระบุเหตุผลสำคัญของการจัดตั้งไว้ว่าเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เนื่องในศุภดิถีทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา และเพื่อที่จะขยายการศึกษาวิชาชีพระดับสูงให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้มี โอกาสพัฒนาความรู้ ความคิด ในการดำรงชีวิต ทั้งเป็นการผลิต และพัฒนากำลังคนสำหรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในบริเวณพื้นที่ตามโครงการ พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ของรัฐบาล

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดตั้งวิทยาเขตวังไกลกังวล เนื่องมาจากการเกิดวาตภัยพายุใต้ฝุ่นเกย์ในบริเวณ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 ทำให้ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลจึงได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยให้ส่วนราชการร่วมแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนภายใต้ “แผนฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง” หน่วยงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการเข้าแผนเพื่อฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ ดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ กรมต่าง ๆ ได้เสนอโครงการเข้าแผน เช่น โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการประมงชุมพร ของกรมอาชีวศึกษา ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้จัดตั้งวิทยาเขตขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานดังกล่าวด้วย

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ภารกิจ และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม และประเทศชาติ จึงได้สนองนโยบายของรัฐบาลโดยเร่งดำเนินการจัดทำโครงการจัดตั้ง “วิทยาเขตวังไกลกังวล” จนสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รุ่นแรก จำนวน 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการท่องเที่ยว และสาขาวิชาการโรงแรม สาขาวิชาละ 30 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 และได้เปิดเรียนเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2533 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และในปี 2533 เป็นปีครบรอบ 90 พรรษา ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเริ่มต้นของวิทยาเขตวังไกลกังวล มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่สำคัญของชาติ

การจัดตั้งวิทยาเขตวังไกลกังวลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความก้าวหน้าตามลำดับ ในระยะเริ่มต้น วิทยาเขตได้ใช้อาคารเอนกประสงค์ของโรงเรียนวังไกลกังวล เป็นสถานที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่เรียนชั่วคราว โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือการจัดตั้งวิทยาเขตมาตั้งแต่ ต้นคือ คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย รองราชเลขาธิการสำนักพระราชวังฝ่ายกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้จัดการของโรงเรียนวังไกลกังวลอยู่ปัจจุบัน

สถานที่ตั้งของวิทยาเขตวังไกลกังวล

วิทยาเขตวังไกลกังวล มีสถานที่ตั้ง 4 แห่งคือ

1. บริเวณพระราชวังไกลกังวล (เขต 1)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้ทรงมีความห่วงใยในการศึกษาของบุตรหลานข้าราชการบริพาร ทหาร ตำรวจ และประชาชนในบริเวณใกล้เคียง จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนวังไกลกังวล ขึ้นในบริเวณติดกับพระราชวังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 พระองค์ทรงมีพระราชดำริจะให้มีการขยายการศึกษาระดับสูง เพื่อให้เยาวชนในท้องถิ่นได้พัฒนาตนเอง และสามารถประกอบอาชีพภายในท้องถิ่นได้ ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งสถานศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นในบริเวณนี้ สำหรับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อได้เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ขึ้นที่อำเภอหัวหิน จึงได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ให้ใช้สถานที่บางส่วนของโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นที่ตั้ง บริเวณนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งแรกของวิทยาเขตวังไกลกังวล โดยวิทยาเขตได้รับ งบประมาณปี 2534 สำหรับสร้างอาคารสำนักงาน และปฏิบัติการ จำนวน 1 หลัง ซึ่งเปิดใช้เป็นอาคารเรียน และสำนักงานตั้งแต่ปลาย ปีการศึกษา 2535

1.1 ในระยะเริ่มต้นจะใช้เป็นสถานที่เรียนของนักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว การโรงแรม และสาขาวิชาด้านบริหารธุรกิจทั้งหมด

1.2 ปัจจุบัน เขต 1 สำนักงานการศึกษาทางไกล เพื่อให้เป็นไปตามพระบรมราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นความสำคัญของการศึกษาแก่ประชาชนโดยไม่มีข้อจำกัดอย่างทั่วถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ร่วมกับ มูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีก 8 แห่ง ได้จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม โดยสำนักงานการศึกษาทางไกล วิทยาเขตวังไกลกังวล เป็นผู้ประสานดำเนินการ ณ สำนักงานเขต 1 ในเขตพระราชฐาน แห่งนี้

2. บริเวณบ้านราชมงคลชมคลื่น (เขต 2)

เขต 2 บริเวณบ้านราชมงคลชมคลื่น สถานที่นี้มีพื้นที่ 8 ไร่เศษ ตั้งอยู่ติดชายทะเลใกล้เขาตะเกียบห่างจากพระราชวังไกลกังวลไปทางทิศใต้ ประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสาขาวิชาการโรงแรมและสาขาวิชาการ ท่องเที่ยว โดยมีอุปกรณ์ และสภาพแวดล้อมทั่วไปเช่นเดียวกับโรงแรมระดับมาตรฐาน เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ห้องครัวร้อน ห้องครัวเย็น โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสัมนากลุ่มย่อยโดยจัดให้มีห้องโสตทัศนศึกษาและห้อง ประชุมเล็ก

3. บริเวณเขาพิทักษ์ (เขต 3)

บริเวณนี้มีพื้นที่ 14 ไร่เศษ อยู่ห่างจากบริเวณพระราชวังไกลกังวล ประมาณ 8 กิโลเมตร โดยแยกจากถนนเพชรเกษมไปทางทิศตะวันตก เดิมสถานที่นี้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมตำรวจ ต่อมากรมตำรวจได้ส่งคืนให้แก่กรมธนารักษ์เพื่อมอบให้เป็นสถานที่จัดการศึกษา ของวิทยาเขตวังไกลกังวล วิทยาเขตมีเป้าหมายการใช้งานดังนี้

3.1 ใช้เป็นส่วนที่พักของครู – อาจารย์ และบุคลากรวิทยาเขตวังไกลกังวล

3.2 ใช้เป็นสถานที่เรียนของกลุ่มสาขาวิชาการท่องเที่ยว สาขาวิชาการโรงแรม และสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม

3.3 ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนา ทั้งนี้เพื่อรองรับการฝึกงานของนักศึกษาในสาขาวิชา การโรงแรม

3.4 จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ และคณะศิลปศาสตร์

4. บริเวณสวนสน (เขต 4)

บริเวณนี้มีพื้นที่ 235 ไร่เศษ อยู่ตรงข้ามกับสวนสนประดิพัทธ์ ห่างจากบริเวณพระราชวังไกลกังวล ไปทางทิศใต้ ประมาณ 13 กิโลเมตร ด้านหน้าติดกับถนนเพชรเกษม และทิศเหนือติดกับกองพลทหารราบที่ 16 พื้นที่นี้เดิมอยู่ภายใต้การดูแลของกองพลทหารราบที่ 16 ต่อมากองทัพบกได้ส่งคืนให้กรมธนารักษ์เพื่อให้ใช้เป็นสถานที่จัดการการศึกษา ของวิทยาเขตวังไกลกังวล โดยได้รับมอบพื้นที่ 2 ระยะคือ 155 ไร่ และ 80 ไร่ตามลำดับ

โดยจัดตั้งเป็นสำนักงาน วิทยาเขตวังไกลกังวล มีหน้าบริหารงานวิทยาเขต และได้กำหนดเป้าหมายการใช้งานไว้สำหรับการศึกษาทางด้านช่างอุตสาหกรรม ด้านบริหารธุรกิจ และวิศวกรรมลงในบริเวณนี้ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิเช่น ห้องสมุดอันทันสมัย สนามกีฬา ห้องประชุมขนาดใหญ่ เพื่อทำกิจกรรม

2 thoughts on “ประวัติความเป็นมา

Leave a comment